จากการถอดองค์ความรู้จากแม่ชะเวง สามารถสรุปขั้นตอนการทำหุ่นกระบอก ได้ดังนี้

_____ขั้นตอนที่ ๑ การคัดเลือกต้นไม้ ในที่นี้เลือกใช้ไม้ ตะกู มีอายุประมาณ ๕-๘ ปี ซึ่งเป็นเนื้อไม้อ่อนและมีน้ำหนักเบา เลือกต้นที่พอเหมาะไม่เล็กและใหญ่จนเกินพอดี เนื้อกลางไม้แน่น ลำต้นตรงไม่คดงอ

 

 

_____ขั้นตอนที่ ๒ นำเลื่อยหรือมีดตัดบริเวณโคนต้นตะกูและทอนออกเป็นท่อนให้เท่า ๆ กัน ยาวประมาณ ๑๕-๒๐ นิ้ว

 

 

_____ข้นตอนที่ ๓ จัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมใช้ สำหรับการแกะทำหุ่นกระบอก เช่น มีด สิ่ว ตะไบ กระดาษทราย ฯลฯ

 

_____ขั้นตอนที่ ๔ การออกแบบและกำหนดรูปร่างของท่อนไม้ตะกูที่ได้ แบ่งสัดส่วนออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนล่าง โดยให้ส่วนบนมีความยาวประมาณ ๓-๕ นิ้ว เพื่อเป็นส่วนของยอดมงกุฎหรือแต่งเครื่องประดับศีรษะ ในส่วนกลางมีความยาวประมาณ ๕-๗ นิ้ว เพื่อเป็นส่วนของใบหน้าแสดงถึงเอกลักษณ์ตามรูปลักษณะของตัวละครนั้น ๆ เช่น หน้าตัวพระ หน้าตัวนาง หน้ายักษ์ เป็นต้น และในส่วนล่าง มีความยาวประมาณ ๘-๑๐ นิ้ว เป็นส่วนของลำคอและลำตัวของหุ่น หรือมีไว้สำหรับถือจับขณะทำการเชิด 

 

_____ขั้นตอนที่ ๕ การเกลาเนื้อไม้ โดยใช้สิ่วและมีดบาง ค่อย ๆ เลาะเนื้อไม้ออกตามรูปหน้าของตัวหุ่นกระบอก เพื่อนำส่วนที่ไม่ใช้ออก ซึ่งต้องใช้ความพยายามและความพิถีพิถันไม่ให้โดนส่วนอื่น เกิดความเสียหาย รวมถึงการแกะไม้เป็นรูปมือ เพื่อทำเป็นแขนของหุ่นกระบอกด้วย

 

_____ขั้นตอนที่ ๖ การใช้ตะไบ และกระดาษทรายขัดเพื่อลบเหลี่ยม ทำให้ใบหน้าของหุ่นกระบอก มีลักษณะมน เนียนเรียบสวยงาม

 

_____ขั้นตอนที่ ๗ การปั้นแต่งหน้าตาของหุ่นกระบอก เป็นขั้นตอนของการซ่อมแซมและ ปั้นปูนเสริม เติมส่วนเว้าส่วนโค้งของใบหน้าที่ยังขาดหายไป วิธีนี้ตามขั้นตอนของช่างที่ทำหุ่น ได้เลือกใช้สีโป๊วเนื้อไม้แทนการใช้ปูนปั้น เพราะหาง่ายและสามารถปั้นแต่งได้ง่ายกว่า รวมถึง การปั้นลายเพื่อใช้ประดับตกแต่งส่วนยอดบนศีรษะ โดยนำสีโป๊วที่แห้งพอมาด มากดใส่ในแท่นแม่พิมพ์ที่ทำขึ้นจากแท่งเทียนไขสลักเป็นรูปลายไทยต่าง ๆ ใช้ปลายเข็มหมุดสะกิดออก ทิ้งไว้ให้แห้ง (ให้ทำเตรียมรอไว้หลาย ๆ แบบและทำเป็นจำนวนมาก)

 

 

_____ขั้นตอนที่ ๘ การทาสี เมื่อได้รูปไม้ที่ขัดจนเรียบเนียนแล้ว ใช้ปูนปลาสเตอร์ทาลงบริเวณใบหน้าของหุ่นกระบอก ทั้งนี้สีที่ใช้ขึ้นอยู่กับรูปลักษณะของหุ่นกระบอก เช่น ตัวหุ่นแสดงเป็นมนุษย์ โดยปกติให้ทาสีขาว ตัวหุ่นแสดงเป็นยักษ์ ให้ทาสีเขียว หรือตัวหุ่นแสดงเป็นครุฑ ให้ทาสีแดง เป็นต้น

 

_____ขั้นตอนที่ ๙ การติดลายไทยที่ปั้นทิ้งไว้จนแห้ง นำมาทากาวลาเท็กซ์ติดประดับตกแต่ง         บนส่วนหัวหุ่นกระบอก

 

_____ขั้นตอนที่ ๑๐ การลงรัก-ปิดทอง เป็นการนำยางรักน้ำเกลี้ยงทาทับส่วนที่ทำเป็นลวดลาย   ต่าง ๆ  ให้หนาประมาณ ๑-๒ มิลลิเมตร โดยต้องปล่อยให้รักที่ได้ทาไว้คราวหนึ่ง ๆ แห้งสนิทและเรียบเนียนทุกครั้ง ในครั้งสุดท้ายก่อนปิดทอง ให้ทารักน้ำเกลี้ยงแบบบาง ๆ แล้วจึงทำการปิดทอง ซึ่งวิธีการปิดทองจะนำภาชนะขนาดใหญ่มาลอง และนำแผ่นทองคำเปลวมาปิดทับบนพื้นที่ที่ได้ทารักไว้นั้นจนทั่ว จากนั้นใช้พู่กันปัดทองให้เรียบเนียน เศษแผ่นทองคำเปลวที่ถูกปัดออกจะลงไปกองอยู่ที่ก้นภาชนะ ให้ใช้พู่กันป้ายแล้วนำมาปัดใหม่  ทำอย่างนี้จนสีทองติดทั่วเสมอกัน  

 

_____ขั้นตอนที่ ๑๑ การเขียนหน้าตาของหุ่นกระบอก เป็นการตกแต่งใบหน้าของหุ่นกระบอก             โดยนำสีโปสเตอร์สีต่าง ๆ มาวาดรูปดวงตา วาดสีปาก หากเป็นหุ่นลิง หุ่นยักษ์ อาจต้องมีการวาดลวดลาย    ต่าง ๆ ลงบนใบหน้าด้วย ทั้งนี้ต้องมีการศึกษาถึงรายละเอียดของแต่ละตัวละครอย่างลึกซึ้ง เพื่อจะได้รูปลักษณะอย่างเสมือนจริง 

 

_____ขั้นตอนที่ ๑๒ การประดับกระจก หรือเพชรพลอย นำหุ่นที่ปิดทองแล้วมาประดับกระจกที่ตัดเป็นวงกลมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง สามเหลี่ยมบ้าง หรือเป็นเม็ดเพชรคริสตัล ทากาวลาเท็กซ์ติดประดับลงตามลวดลายต่าง ๆ

100_7448.JPG 

_____ขั้นตอนที่ ๑๓ การทำไหล่ตัวหุ่นกระบอก นำเปลือกมะพร้าวแห้งมาตัดเป็นแป้น              ขนาดประมาณ ๕ - ๗ นิ้ว เจาะรูตรงกลาง มีไว้สำหรับเสียบเข้ากับส่วนคอของหุ่นกระบอก โดยเว้นให้ห่างจากใบหน้า ลงมาประมาณ ๒ นิ้ว ซึ่งเรียกว่า คอหุ่น ส่วนเปลือกมะพร้าวแห้งนี้ เรียกว่า ไหล่หุ่น

 

_____ขั้นตอนที่ ๑๔ การตัดเย็บเสื้อผ้าสำหรับใส่กับหุ่นกระบอก นำผ้าลายไทยตัดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดประมาณ ๑๕ - ๒๐ นิ้ว จำนวน ๒ ชิ้น ประกบหันให้ลายผ้าเข้าด้านใน ใช้จักรเย็บให้ติดกันทั้ง ๓ ด้าน เก็บขอบชายผ้าที่ไม่ได้เย็บติดกันให้สวยงาม แล้วพลิกกลับให้ลายผ้าอยู่ด้านนอก ลักษณะคล้ายถุงใส่ของ เสร็จแล้วนำผ้าที่ได้ ปักด้วยเลื่อม เม็ดมุก หรือคริสตัลสีต่าง ๆ ให้เกิดเป็นลวดลายที่สวยงาม ส่วนมากปักเป็นลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด หรือลายขนมเปียกปูน

 

_____ขั้นตอนที่ ๑๕ การทำเครื่องประดับตกแต่งตัวหุ่น เช่น กรองคอ อินธนู สร้อยคอ จี้นาง กำไลข้อมือ ดอกไม้ทัด เป็นต้น ขึ้นอยู่กับตัวละครแต่ละตัวว่าแสดงเป็นตัวอะไร หากเป็นพระอภัยมณี มือขวาก็จะต้องถือปี่ หากเป็นยักษ์ มือขวาก็ควรถือกระบอกด้วย ทั้งนี้ จึงควรทำการศึกษาค้นคว้ารายละเอียดของตัวละครที่นำมาทำเป็นหุ่นกระบอกแต่ละตัวด้วย

 

_____ขั้นตอนที่ ๑๖ การประกอบตัวหุ่น ให้นำผ้ากรองคอและผ้าที่ได้ทำการปักเลื่อมเรียบร้อยแล้ว สวมใส่ที่คอหุ่นโดยหันลายออกด้านนอก สวมแป้นที่ทำจากกาบมะพร้าวเพื่อเป็นไหล่ติดกาวลาเท็กซ์ยึดให้แน่นใช้กาวลาเท็กซ์ยึดผ้าติดกับกาบมะพร้าวให้แน่น ใช้กรรไกรตัดปลายมุมผ้าทั้งสองเล็กน้อยพอให้สามารถนำไม้ที่แกะสลักรูปมือทั้งสองข้างใส่ในมุมผ้า ยึดติดด้วยกาวลาเท็กซ์และตกแต่งเก็บขอบให้สวยงาม ประดับสร้อยคอ จี้ อินธนู และติดอุบะดอกไม้ทัด ตรวจสอบดูความเรียบร้อยอีกครั้งเป็นการเสร็จขั้นตอนในการทำหุ่น